Last updated: 17 มี.ค. 2565 | 3456 จำนวนผู้เข้าชม |
ในงานก่อสร้างมีลำดับขั้นตอน มาตรฐาน และมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน มูลค่างานสูง ในเบื้องต้นในงานก่อสร้างคงหนีไม่พ้นเรื่องการควบคุมระยะเวลา ต้นทุนค่าใช้จ่าย และคุณภาพงาน ซึ่งสามสิ่งนี้ย่อมสอดคล้องกันเสมอ
ในวันนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องความล่าช้าในงานก่อสร้าง ผลกระทบ และแนวทางป้องกันแก้ไขครับ ซึ่งหากงานก่อสร้างล่าช้าย่อมมีผลกระทบและความเสียหายต่อโครงการ เช่น โครงการไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ขาดรายได้จากการประกอบการ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผู้รับเหมาเรียกร้องค่าเตรียมการเพิ่ม เป็นต้น ส่วนผลกระทบกับผู้รับเหมาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เจ้าของเรียกร้องเงินค่าปรับ ถูกริบเงินหรือหนังสือค้ำประกัน เป็นต้น และสุดท้ายอาจมีการเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกัน ทำให้เสียมิตรภาพ เสียคู่ค้า เสียโอกาส และอาจรวมถึงการเสียชื่อเสียงที่สร้างมาครับ
ปัจจัยสาเหตุความล่าช้าในงานก่อสร้าง ผลกระทบ และแนวทางป้องกัน
1. ขอบเขตงานความต้องการของเจ้าของ (TOR/RFP)
2. การออกแบบ
3. การประกวดราคาและการคัดเลือกผู้รับเหมา
4. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. การเปลี่ยนแปลงงาน
6. แรงงาน / เครื่องจักร / เทคโนโลยี
7. การควบคุมและการบริหารงานก่อสร้าง
8. การควบคุมและปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา
9. สภาพคล่องทางการเงิน
1. ขอบเขตงานความต้องการของเจ้าของ
ความต้องการของเจ้าของจะเป็นสารตั้งต้นในการจัดทำแบบ การประกวดราคา และกำหนดแผนงานก่อสร้าง ซึ่งหากเจ้าของกำหนดความต้องการชัดเจน มีการสื่อสารกับผู้ออกแบบ ผู้บริหารงานก่อสร้าง และผู้รับเหมาได้ครบถ้วนถูกต้องและชัดเจน ก็จะช่วยลดปัญหาความล่าช้าในงานก่อสร้างได้มา
2. การออกแบบ
ผู้ออกแบบมีส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าของบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเหมาะสมลงตัว ความสวยงาม ประโยชน์การใช้สอย ความแข็งแรงทนทาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมต้นทุน และเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งหากการออกแบบทำได้เหมาะสมตามข้างต้น ย่อมจะทำให้การประกวดราคาและงานก่อสร้างราบรื่น งานแล้วเสร็จทันเวลา เป็นไปตามความต้องการและวัตถุประสงค์ของเจ้าของ
3. การประกวดราคาและการคัดเลือกผู้รับเหมา
การประกวดราคาและการคัดเลือกผู้รับเหมาย่อมมีผลโดยตรงกับระยะเวลาการก่อสร้าง เนื่องจากหากการออกแบบเรียบร้อย ครบถ้วนตามความต้องการของเจ้าของ มีการบริหารการออกแบบที่ดี จัดหาผู้รับเหมาได้เร็ว และได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ ก็จะเริ่มงานก่อสร้างได้ทันกำหนด งานมีคุณภาพ แล้วเสร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ความต้องการของเจ้าของ
4. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างมากมาย เช่น พรบ. ควบคุมอาคาร เทศบัญญัติ กฎกระ- ทรวง กฎหมายที่เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยิ่งในปัจจุบันเกิดโรคระบาดโควิด-19 ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องยิ่งต้องมีความเคร่งครัดและระมัดระวังยิ่งขึ้น ควรศึกษาทำความเข้าใจและปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การขออนุญาตต่างๆ การก่อสร้าง และการเปิดใช้อาคารไม่ติดขัด
5. การเปลี่ยนแปลงงาน
การเปลี่ยนแปลงงาน หากเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อระยะเวลาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงออกแบบ ช่วงประมูลงาน และช่วงการก่อสร้าง ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงให้เกิดงานเปลี่ยนแปลงน้อย
ที่สุด โดยเฉพาะงานเพิ่มเติมจากสัญญา อันจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายและระยะเวลาก่อสร้าง และควรต้องมีการคุยกันให้ชัดเจนระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ออกแบบ ในขอบเขตงานและความต้องการของผู้ว่าจ้าง จากนั้น ผู้ออกแบบก็ต้องออกแบบให้ครบถ้วนตามความต้องการของเจ้าของ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ การออกแบบสามารถนำไปก่อสร้างและใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของ
6. ผู้รับเหมา / แรงงาน / เครื่องจักร / เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ผู้รับเหมา แรงงานที่มีคุณภาพ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ย่อมมีผลโดยตรงต่อคุณภาพงานและระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้งานมีคุณภาพ งานมีความแม่นยำ มีมาตรฐานและไม่ต้องแก้ไขงานบ่อยๆ ทำให้ควบคุมต้นทุนและระยะเวลาก่อสร้างได้
7. การควบคุมและการบริหารงานก่อสร้าง
หากจะว่าไปแล้ว การออกแบบที่ดี การมีแรงงานคุณภาพ เครื่องจักร เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ขาดการบริหารจัดการ การขาดการประสานงาน ขาดการรายงาน ขาดการติดตามงาน และขาดการสื่อสารที่ดี ทำงานไปคนละทิศคนละทางก็อาจจะเกิดความผิดพลาด ความล่าช้า และสร้างเสียหายให้แก่โครงการได้
ดังนั้น การควบคุมและการบริหารงานก่อสร้างที่ดี ผู้บริหารงานก่อสร้างที่ดี มีความรู้ และประสบการณ์การประสานงาน การรายงาน การติดตามงาน การสื่อสารที่ดีย่อมมีผลอย่างมากในการที่จะกำหนดทิศทางการทำงาน ทำให้งานโครงการมีคุณภาพมาตรฐาน แล้วเสร็จทันเวลา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง Win Win และ Happy กันทุกฝ่าย
8. การควบคุมและปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา
สัญญาที่เป็นธรรม มีความครบถ้วนครอบคลุม ได้แก่ เรื่องขอบเขตงาน หน้าที่ วิธีการทำงาน ระยะเวลา การจ่ายเงิน แบบ เอกสารประกอบสัญญา การบอกเลิกสัญญา การส่งมอบ การรับประกันงาน การบอกเลิกสัญญา และการระงับข้อพิพาท เป็นต้น รวมถึงการควบคุมติดตามงาน การปฎิบัติให้เป็นไปตามสัญญา จะเป็นคัมภีร์ที่จะทำให้คู่สัญญาและผู้เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น แม้จะมีข้อขัดแย้งบ้าง หากมีสัญญาที่ชัดเจนและเป็นธรรม ครบถ้วนตามข้างต้นก็สามารถหาทางออกได้โดยง่าย ทำงานก่อสร้างราบรื่น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคู่สัญญา และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
9. สภาพคล่องทางการเงิน
สภาพคล่องทางการเงินของผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการย่อมมีผลกระทบต่อการทำงานที่ต่อเนื่อง ไม่ทิ้งงาน ทั้งนี้ ควรต้องมีการทำ Pre-Qualification ของผู้รับเหมาในช่วงประมูลงาน ส่วนผู้รับจ้างก็อาจจะต้องพิจารณาสภาพคล่องและฐานะทางการเงินของเจ้าของด้วยครับ
บทสรุป
ความล่าช้างานก่อสร้างจะไม่เกิดขึ้นหากการมีการวางแผนเตรียมการที่ดี เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การประกวดราคา การจัดซื้อจัดจ้าง การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง คุณภาพวัสดุ แรงงาน เครื่องจักร รวมไปถึงเทคโนโลยี การควบคุม และการบริหารงานก่อสร้าง การสื่อสาร การติดตามงาน การควบคุมและปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา รวมถึงการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของโครงการ.
17 พ.ย. 2565
10 ม.ค. 2566
9 พ.ย. 2565